เที่ยววิถีไทย”แนวใหม่”ท่ามกลางมรสุมโควิด

ใครแพร่เก่งใน โควิด-19 อย่าง แนบเนียนไม่มีอาการคือ…หนุ่มสาวแข็งแรง ทำงานเดินทางแต่ไม่ค่อยมีอาการ …ถ้าเจอเชื้อจังๆ สัมผัสนานก็อาจจะเสร็จได้

แพร่เก่งอีกกลุ่มคือ “เด็ก” แต่เด็กกลับเกิดอาการรุนแรงได้ ทางหลายระบบ…ถึง 4 ระบบหรือมากกว่า โดย “มี” หรือ “ไม่มี” อาการทางระบบหายใจ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกอีกว่า สำหรับกลุ่มสูงวัย มีโรค เช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต มีโรคการอักเสบในตัว แพร่ไม่เก่ง เพราะกระฉับกระเฉงน้อยกว่า แต่ถึงแม้อยู่บ้านก็ยังเสี่ยงที่จะรับเชื้อจากกลุ่มหนุ่มสาวและเด็ก

ท่ามกลางความกังวลจากสัญญาณเตือนเฝ้าระวังการระบาดไวรัส “โควิด-19” ระลอกสอง ทุกภาคธุรกิจยังคงจับจ้องจะออกหัวออกก้อย โดยเฉพาะภาค “การท่องเที่ยว”

ต้องยอมรับว่า หลายๆคนคาดหวังกันว่าบรรยากาศท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักเฟื่องฟูอีกครั้งจากแผนส่งเสริม “ไทยเที่ยวไทย” กระตุ้นเศรษฐกิจทดแทนทัวร์ต่างชาติที่หายไป

เรื่องนี้ควรให้ความสำคัญ…กับการคัดสรรผู้มีประสบการณ์ เข้าใจตลาดท่องเที่ยวไทย และมีความสัมพันธ์ภาคธุรกิจเอกชนมาบริหารอย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้บริหารตลาดในประเทศ ที่ควรต้องมีคุณสมบัติโดดเด่นด้านตลาด…กับอีกหัวหอกที่จะมาดูระบบไอที ที่ต้องเก่งจริง เก๋าจริง

 

ในสภาวการณ์เช่นนี้…ห้ามเด็ดขาดถ้าจะดึงดันหนุนส่งคนมาจากภาคการเมืองที่อาจจะหมายถึงวังวนเก่าๆ…การส่งท่อน้ำเลี้ยง หรือเพื่อหวังอะไรบางอย่าง…?

หนึ่งในสุ้มเสียงคนในวงการการท่องเที่ยวไทยมากประสบการณ์ ย้ำว่า การกระตุ้นตลาดไทยเที่ยวไทยต้องยอมรับความจริงที่ว่ารัฐยังคงเป็นแผ่นเสียงตกร่องแจกเงินจ้างคนเที่ยว

ขณะกระทรวงการท่องเที่ยวฯฟุ้ง…ตัวเลขคนไทยเที่ยวกันเองปีนี้ 68 ล้านคนครั้ง โดยไม่เห็นมีสินค้าแปลกใหม่มาสร้างแรงจูงใจ

นอกจากแคมเปญ “คิดแล้วไปให้ถึง” แนวละครบ่อน้ำเสีย? จับต้องไม่ได้…แรงไม่เท่า “AMAZING Thailand” ที่ติดลมบนมาจนบัดนี้ เพราะท่องเที่ยวเป็นสัมผัสจริง

…ไม่ใช่เพ้อฝันเหมือนไปทัวร์โลกพระจันทร์ดาวอังคาร

ย้ำอีกครั้ง…การตั้งเป้า 68 ล้านคนครั้ง นั่นหมายถึงต้องคัดสินค้าตัวใหม่ ดูน่าสนใจพร้อมขายมาเป็นแม่เหล็ก ไม่ใช่จ้างเซเลบมานำเสนอ แล้วตอบโจทย์ว่า…นี่คือการทำตลาดมือฉมัง?

อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่า…มีคนฝากผีฝากไข้ไว้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 3.9 ล้านคน ที่กำลังใกล้จะจมน้ำด้วยมรสุมเศรษฐกิจพิษโควิด-19

ฉายภาพตอกย้ำประเด็นนี้แม้รัฐจะออกมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว ก็ไม่อาจต่อลมหายใจนักลงทุนรายย่อยให้เดินหน้าต่อไปได้ ทางออกสุดท้ายจึงชิงปิดกิจการกันรายแล้วรายเล่า

แต่…เมื่อ “รัฐ” ยังเลือกส่งเสริมไทยเที่ยวไทยในมิติ “ท่องเที่ยววิถีไทย” เป็นคัมภีร์ผ่อนคลายคนไทย และใส่ใจผู้ประกอบการไปพร้อมการฟื้นฟูเศรษฐกิจบ้านเมือง ก็ต้องมองหาแสงสว่างในความมืดมน…มีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดบ้าง ที่ช่วยตอบโจทย์ข้อนี้ได้?

จากการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวรัศมีใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งเหมาะกับการเดินทาง 2 วัน 1 คืน และอยู่คู่ทะเลพัทยา ที่พร้อมทุกมิติ อาทิ…สวนนงนุชพัทยา พื้นที่ 1,700 ไร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี คืออาณาจักรที่ตลาดท่องเที่ยวไทยยังเหนียวแน่น และมีรูปรอยท่องเที่ยววิถีไทยชัดเจน

หากทบทวนอดีต…สวนนี้เปิดเมื่อปี 2497 แล้วพัฒนาเป็นสวนพฤกษศาสตร์เต็มรูปแบบปี 2530 เหมือนฝรั่งเศสมีสวนสวยในพระราชวังแวร์ซายส์ ไทยก็มีสวนนงนุชฯเป็นสัญลักษณ์คู่บ้าน

กระทั่งกลายเป็นโบตานิก การ์เด้น มีกิจกรรมโดดเด่นมากมายรองรับ จนเว็บเพจยอดนิยมระดับโลก 26 แห่ง ยกย่องให้ติดอันดับ ท็อปเทนสวนสวยของโลก โดยรัฐบาลไทยไม่ต้องเทงบฯสนับสนุน หากแต่ผลตอบรับด้านชื่อเสียง แน่นอน…มูลค่ามหาศาลกับประเทศ

นับจากช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อต้นปี หลังการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ และปิดสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นสุสานชั่วคราว…กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชฯ รับว่ากระทบหนัก แต่ต้องยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

“เราจึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้พันธุ์ไม้ได้พักฟื้น ขณะเดียวกันพัฒนาจุดขายใหม่ เตรียมรับเมื่อสถานการณ์ปกติ โดยใช้ปัจจัยที่มีอยู่เป็นต้นทุนในการสร้างตัวสินค้าเพิ่มเติม”

ช่วงนั้นได้ใช้เวลาที่มีอยู่ปรับปรุงหุบเขาไดโนเสาร์ แหล่งเรียนรู้โลกดึกดำบรรพ์เมื่อ 225 ล้านปี ซึ่งเปิดเมื่อปี 2559 ประกอบด้วย งาน ประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวขนาดใหญ่ 700 ตัว จาก 217 สายพันธุ์

ล่าสุดได้ผลิตเพิ่มอีก 12 ตัว จากไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย 12 สายพันธุ์ที่ขุดค้นพบในแผ่นดินอีสานบ้านเฮา…นอกจากนี้ ก็ได้ปรับปรุงพื้นที่ 5 ไร่ เป็นจุด “ท่องเที่ยวชีวิตวิถีใหม่”นิวนอร์มอล

นั่นคือ…“สวนลอยฟ้านงนุชพัทยา” หรือ “การ์เด้น อิน เดอะ สกาย” เหมือนอิรักมีสวนลอยโบราณบาบิโลน ริมแม่น้ำยูเฟรติส เกาหลีใต้มีสวนลอยฟ้าเซอูลโล 7017 สิงคโปร์มีการ์เด้น บาย เดอะ เบย์

สวนลอยฟ้านงนุชฯ ดีไซน์เป็นสวน 2 ชั้นในพื้นที่รวม 10 ไร่ ส่วนล่างตกแต่งด้วยไม้ใบและไม้ดอกประเภทชอบน้ำ จากป่าเขตร้อนโดยปลูกไว้กับพื้นดิน อาทิ ปาล์ม หมากสงแคระ หมากผู้หมากเมีย ตะพ้อ สับปะรดสี โกศลไทย ที่ปรับตัวเข้ากับสถานที่และสภาวะอากาศได้

หากเหลียวมองในส่วนชั้นบนประดับด้วยไม้เกาะติดกำแพง กับ ห้อยลงมาให้ดูสวยงาม พวกนี้ไม่ถึงกับชอบน้ำ แต่สามารถทนความชื้นอากาศได้ดี ทำให้เกิดภาพ 2 มิติ…มองได้จากล่างขึ้นบน และบนลงล่าง

“บริเวณภายในโล่งกว้างให้คนทิ้งระยะห่างทางสังคม มีการคัดกรอง อุณหภูมิร่างกาย กับแอลกอฮอล์ล้างมือ และขอให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเที่ยวชมได้ทั้งช่วงฝนตกแดดออก เพราะมีหลังคาโปร่งแสง หรือ จะเดินเชื่อมสกายวอล์กรอบสวนนงนุชยาว 5 กิโลเมตรได้อีกด้วย”

ระหว่างตอบโจทย์ “เที่ยววิถีไทย” ดินแดนแห่งนี้จึงสนับสนุนคนไทยสลับกันไปเที่ยวชมฟรี…สิงหาคมที่ผ่านมา เปิดรับชาวปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี คนกรุงเขตพระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบฯ ยานนาวา บางคอแหลม ปทุมวัน บางรัก สาทร คลองเตย วัฒนา…ส่วนพื้นที่อื่นๆก็คอยติดตามข่าวกันดู

วัชรพล สารสอน รอง ผอ.ททท.พัทยา เสริมว่า สวนนงนุชฯ เป็นหนึ่งตัวอย่างสะท้อนโปรดักส์ท่องเที่ยวชั้นแนวหน้าเมืองพัทยาที่ชาวโลกรู้จัก มีส่วนขับเคลื่อนให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวสู่พัทยา จ.ชลบุรี มากถึงปีละ 18 ล้านคน ททท.พัทยา ได้บรรจุสวนลอยฟ้าไว้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนไทย เพื่อกลับมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง

ท้ายที่สุดนี้ ที่คาดหวังกันว่า 68 ล้านคนครั้ง…ตัวเลขคนไทย เที่ยวกันเองจะสำเร็จได้ ฟันเฟืองต้องหมุนต่อเนื่องตามกันทั้งระบบ เริ่มจากคนระดับมันสมองคิด…วางแผนจัดกลยุทธ์ตลาดเป็นระบบ พร้อมโปรโมชันดีงามเดินคู่กันไปกับโปรดักส์ที่โดดเด่น…ไม่ใช่หลงทิศหลงทางอย่างที่เกิด.